หน้าแรก > ข่าวประชาสัมพันธ์ > 🗼 ความรู้เกี่ยวกับเสาส่งสัญญาณมือถือ 📲
บันทึกโดย :นาย อรุณ มหาไพบูลย์ (เขต33 พิษณุโลก)
วันที่บันทึก :23/06/2566
🗼 ความรู้เกี่ยวกับเสาส่งสัญญาณมือถือ 📲

ข้อเท็จจริง-(2).png
 
1. เสาส่งสัญญาณมือถือคืออะไร
    เสาส่งสัญญาณมือถือโดยทั่วไปเป็นหอคอยโครงสร้างเหล็กหรือคอนกรีต ซึ่งถูกออกแบบและสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการติดตั้งสายอากาศ
 

2. สายอากาศคืออะไร
    สายอากาศเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการส่ง หรือรับคลื่นวิทยุสำหรับการสื่อสารของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ
 

3. สถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือคืออะไร และประกอบด้วยอะไรบ้าง
    สถานีฐานเป็นที่ตั้งอุปกรณ์สำหรับรับ-ส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ประกอบด้วย เครื่องส่งวิทยุ เครื่องรับวิทยุ สายเคเบิลนำสัญญาณ สายอากาศ และเสาส่งสัญญาณมือถือ
 

4. คลื่นวิทยุคืออะไร
    เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกจากสายอากาศของเครื่องส่งวิทยุ
 

5. ทำไมต้องตั้งเสาส่งสัญญาณมือถือใกล้ที่อยู่อาศัย และชุมชน
    เพื่อให้ผู้ใช้บริการที่อาศัยอยู่ในชุมชน สามารถรับ-ส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือได้อย่างชัดเจน
 

6. มีข้อกำหนดหรือไม่ว่าเสาส่งสัญญาณมือถือต้องอยู่ห่างจากบ้านไม่น้อยกว่า 400 เมตร ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
   ไม่มีข้อกำหนดจากหน่วยงานของรัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ระบุว่าเสาส่งสัญญาณมือถือควรตั้งให้ห่างจากบ้านไม่น้อยกว่า 400 เมตร ดังนั้นตัวเลขนี้จึงไม่ควรนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดระยะห่าง อนึ่ง สำนักงาน กสทช. ได้ตรวจวัดคลื่นวิทยุในรัศมี 500 เมตร จากเสาส่งสัญญาณมือถือ และพบว่าระดับความแรงของคลื่นวิทยุไม่ได้เปลี่ยนแปลงกับระยะทางมากนัก
 

7. คลื่นวิทยุจากเสาส่งสัญญาณมือถือ มีผลต่อสุขภาพหรือไม่
    คลื่นวิทยุจากเสาส่งสัญญาณมือถือเป็นคลื่นที่มีระดับความแรงต่ำมาก (หลายร้อยหลายพันเท่า) เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยสากลที่ใช้กันในหลายๆประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย ความเห็นทางวิทยาศาสตร์ในระดับสากลส่วนใหญ่ รวมทั้งข้อสรุปขององค์การอนามัยโลกระบุว่าคลื่นที่มีระดับความแรงต่ำเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ
 

8. คลื่นวิทยุจากเสาส่งสัญญาณมือถือทำให้เกิดอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุหรือไม่
    อาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ (ชักกระตุก อาเจียน ปวดหัว นอนไม่หลับ คลื่นไส้ ความจำเสื่อม ตาลาย หูอื้อ เบื่ออาหาร อารมณ์แปรปรวน หน้ามืด เป็นลม ฯลฯ) ซึ่งบางคนเชื่อว่าอาจเกิดจากเสาส่งสัญญาณมือถือที่อยู่ใกล้บ้านนั้น ผลการวิจัยที่เชื่อถือได้ในทางวิทยาศาสตร์จนถึงทุกวันนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าอาการดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับคลื่นวิทยุจากแหล่งกำเนิดต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ และเสาส่งสัญญาณมือถือ เป็นต้น
 

9. ในการขออนุญาตเปิดใช้เสาส่งสัญญาณมือถือ ผู้ประกอบการต้องทำอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพ
    ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขออนุญาตพร้อมเอกสารประกอบคำขอ ต่อสำนักงาน กสทช. ก่อนที่จะตั้งและเปิดใช้เสาส่งสัญญาณมือถือ และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพจะต้องมีเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
 
ก. หลักฐานการทำความเข้าใจกับประชาชนที่พิสูจน์ได้ว่าบริเวณที่เสนอตั้งเสาส่งสัญญาณมือถือนั้น ได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่แล้ว
ข. ผลการประเมินความแรงของคลื่นวิทยุจากเสาส่งสัญญาณมือถือ เพื่อให้แน่ใจว่ามีระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานสากล
 

10. องค์การอนามัยโลกได้จัด ให้คลื่นวิทยุอยู่ในกลุ่มปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็ง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
      หน่วยงานวิจัยมะเร็งขององค์การอนามัยโลกได้ประกาศเมื่อปี ๒๕๕๔ ว่าหลังจากประเมินผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์แล้วหน่วยงานวิจัยฯ ได้จัดให้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่วิทยุ (คลื่นวิทยุ) เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งอยู่ในกลุ่ม 2B (อาจเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง) การจัดให้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่วิทยุอยู่ในกลุ่มนี้มีพื้นฐานมาจากการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการใช้โทรศัพท์มือถือ อนึ่ง กาแฟ ผักดอง และไอเสียเครื่องยนต์ เบนซินก็อยู่ในกลุ่ม 2B นี้ด้วย
 

11. คลื่นวิทยุจากเสาส่งสัญญาณมือถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
      หน่วยงานวิจัยมะเร็งขององค์การอนามัยโลกได้ศึกษาว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่วิทยุ (คลื่นวิทยุ) จากแหล่งกำเนิดต่างๆ (เรดาร์ โทรศัพท์มือถือ สถานีวิทยุกระจายเสียงสถานีวิทยุโทรทัศน์ และเสาส่งสัญญาณมือถือ ฯลฯ) มีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็งหรือไม่ ผลปรากฏว่าการสัมผัสคลื่นวิทยุดังกล่าวไม่มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็ง ยกเว้นกรณีที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานโดยเฉลี่ยวันละ 30 นาที ไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งดูเหมือนจะชี้แนะว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยต่อการเป็นเนื้องอกบางชนิด สำหรับกรณีของคลื่นวิทยุจากแหล่งกำเนิดอื่นๆ รวมทั้งจากเสาส่งสัญญาณมือถือนั้น ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่ามีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็ง
 

12. คลื่นวิทยุจากเสาส่งสัญญาณมือถือก่อให้เกิดผลกระทบแบบสะสมต่อร่างกายหรือไม่
      ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จนถึงทุกวันนี้ไม่ได้ยืนยันว่าการสัมผัสคลื่นวิทยุในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไปมีผลกระทบแบบสะสมต่อร่างกาย
 
1-(1).png
จำนวนผู้เข้าชม

สำนักงาน กสทช. เขต 33 (พิษณุโลก)   

ที่ตั้ง : 190 ม. 7 (บ้านคุ้งหม้อ) ต. ปากโทก อ. เมือง จ. พิษณุโลก 65000
ที่อยู่รับ-ส่งจดหมาย/พัสดุไปรษณีย์ : ตู้ ปณ. 139 ปณจ. พิษณุโลก อ. เมือง จ. พิษณุโลก 65000

email : mtr_33@nbtc.go.th (สารบรรณอิเล็กทรอนิกส์)

"สายด่วน กสทช. 1200 (โทรฟรี)"  ช่องทางการรับเรื่องสอบถามและร้องเรียนจากประชาชนของศูนย์ Call Center 1200

โทรศัพท์ : 0 5524 5151-2  โทรสาร : 0 5524 5150

งานใบอนุญาต โทรฯ 0 2670 8888  ต่อ  4629, 4634 ,4635   
งานตรวจสอบและกำกับดูแล โทรฯ 0 2670 8888 ต่อ 4633 , 4637 ,4638 
งานตรวจสอบเนื้อหาและคุ้มครองผู้บริโภค โทรฯ 0 2670 8888 ต่อ 4632, 4635 
งานอำนวยการ โทรฯ 0 2670 8888 ต่อ 4626, 4630    
พิกัดที่ตั้ง : Lat : 16.902877  ํN      Long: 100.271843  ํE  หรือ
            Lat : 16°54′10.36″  ํN  Long: 100°16′18.63″  ํE 
>> แผนที่/คลิกเพื่อนำทาง Untitled2-(2).png  <<